ผู้หญิงอายุมากกว่า 35 กับความเสี่ยงในการตั้งครรภ์และภาวะการมีบุตรยาก ควรเตรียมวิธีรับมืออย่างไร

Read Time:4 Minute, 40 Second

การตั้งครรภ์มีอายุที่เหมาะสม ซึ่งถ้าหากอายุมากเกินไป จะทำให้การตั้งครรภ์ไม่เป็นผล หรือเกิดผลลัพธ์ได้ยากกว่าคนที่มีอายุน้อย นอกจากการตั้งครรภ์ที่สำเร็จจะเป็นเรื่องยากแล้ว หากสามารถตั้งครรภ์ได้ในตอนอายุมากๆ ก็จะมีความเสี่ยงบางอย่างต่อเด็กที่จะเกิดมา ที่อาจไม่สมบูรณ์ทางร่างกายได้ จากเซลล์ไข่ของผู้เป็นแม่ที่ไม่แข็งแรง โดยผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 35 ปีขึ้นไป มักเผชิญกับความเสี่ยงเหล่านั้น

อายุที่เหมาะสมกับการตั้งครรภ์ คือเท่าไร?

โดยทั่วไปแล้วร่างกายของมนุษย์จะสามารถตั้งครรภ์ได้เมื่อมีประจำเดือน ซึ่งในแต่ละคนจะมีประจำเดือนช่วงอายุที่แตกต่างกัน แต่ก็จะไม่แตกต่างกันมากนัก โดยทั่วไปแล้วผู้หญิงจะเริ่มมีประจำเดือนเมื่ออายุประมาณ 11-13 ปี เมื่อมีประจำเดือนแล้ว ร่างกายจะมีการตกไข่เกิดขึ้น ซึ่งทำให้สามารถตั้งครรภ์ได้ แต่นั่นก็ไม่ใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการตั้งครรภ์

อายุที่เหมาะสมสำหรับการตั้งครรภ์มักจะอยู่ที่ 20-35 ปี โดยในช่วงอายุ 20 ปี จะถือว่าเป็นบุคคลที่บรรลุนิติภาวะและเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว จึงเป็นช่วงอายุที่เหมาะสมในการตั้งครรภ์ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็อาจต้องพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วย ซึ่งในด้านร่างกาย สำหรับอายุ 20 ปี ถือเป็นวัยที่เหมาะสมกับการปฏิสนธิ เนื่องจากเซลล์ไข่มีความสมบูรณ์แข็งแรง มีโอกาสที่จะตั้งครรภ์ได้อย่างไม่มีอุปสรรค หากร่างกายไม่ได้มีปัญหาในเรื่องของเซลล์สืบพันธุ์

นอกจากอัตราการตั้งครรภ์จะสำเร็จสูงแล้ว การตั้งครรภ์ในวัย 20 ปียังมีความเสี่ยงต่ำที่เด็กจะเกิดมาไม่สมบูรณ์ ซึ่งร่างกายจะเอื้ออำนวยต่อการตั้งครรภ์ที่สมบูรณ์ไปจนกระทั่งอายุ 35 ปี หลังจากนั้นเซลล์ไข่ของผู้หญิงจะเริ่มเสื่อมคุณภาพลงไม่แข็งแรงเท่ากับคนอายุน้อย โอกาสตั้งครรภ์ที่สำเร็จจะเริ่มต่ำลง และความเสี่ยงที่เด็กจะเกิดมาไม่สมบูรณ์จะเริ่มสูงขึ้นด้วย

ตั้งครรภ์อายุ 35 ปีเสี่ยงเรื่องอะไรบ้าง?

การตั้งครรภ์ในวัย 35 ปีขึ้นไป จะมีความเสี่ยงบางอย่าง ได้แก่

1.โอกาสตั้งครรภ์ไม่สำเร็จ

ในผู้หญิงที่อายุ 35 ปีขึ้นไปจะเริ่มตั้งครรภ์ได้สำเร็จยากขึ้น ถือเป็นอุปสรรคของคนอยากมีบุตร เพราะเซลล์ไข่เริ่มเสื่อมคุณภาพ ส่งผลให้อัตราการผลิตไข่ต่ำลง โอกาสการตั้งครรภ์ที่สำเร็จก็จะยากขึ้นตามไปด้วย ทำให้มีบุตรยาก

2.ตั้งครรภ์นอกมดลูก

โอกาสตั้งครรภ์นอกมดลูกจะมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นตามอายุ โดยเฉพาะในผู้หญิงอายุ 35 ปีขึ้นไป จะยิ่งมีความเสี่ยงมากขึ้น 4-8 เท่าเมื่อเทียบกับผู้หญิงอายุน้อยกว่า เนื่องจากการทำงานของท่อนำไข่เสื่อมสภาพลง ทำให้ไข่ที่ผสมแล้วไม่สามารถเดินทางไปฝังตัวที่มดลูกในตำแหน่งที่เหมาะสมได้ จึงเกิดการตั้งครรภ์นอกมดลูกในที่สุด ซึ่งถือเป็นภาวะอันตรายถึงชีวิตของคุณแม่

3.ทารกเสียชีวิตในครรภ์

ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์อายุ 35 ปีขึ้นไป มีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะทารกเสียชีวิตในครรภ์มากกว่าผู้หญิงอายุน้อยสูงถึง 65%

4.ทารกไม่กลับหัวตอนใกล้คลอด

ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์อายุ 35 ปีขึ้นไป มีความเสี่ยงที่ทารกในครรภ์จะไม่กลับหัวตอนใกล้คลอด ทำให้คลอดยากและอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ทั้งต่อตัวทารกเองและตัวคุณแม่ ซึ่งภาวะนี้จะเสี่ยงมากขึ้นในผู้หญิงอายุ 40 ปีขึ้นไปและตั้งครรภ์เป็นครั้งแรก

5.ภาวะแทรกซ้อนจากปัญหาสุขภาพ

ในผู้หญิงที่อายุ 35 ปีขึ้นไป มักจะมีปัญหาสุขภาพบางอย่างที่ทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์ได้ ซึ่งเป็นอันตรายอย่างมาก อาทิ ความดันโลหิตสูง เบาหวาน เป็นต้น อาจทำให้เป็นอันตรายถึงชีวิตทั้งกับตัวคุณแม่เองและตัวเด็กทารก

สิ่งที่ควรทำหากตั้งครรภ์ในวัย 35 ปีขึ้นไป

1.ฝากไข่

หากยังไม่มีแผนตั้งครรภ์แน่นอนแต่อยากมีบุตร หรือมีแนวโน้มว่าจะตั้งครรภ์ในอายุ 35 ปีขึ้นไป ควรทำการฝากไข่เอาไว้ในช่วงอายุ 20-35 ปี โดยการนำเซลล์ไข่ออกมาจากร่างกายและเก็บรักษาไว้โดยการแช่แข็ง ซึ่งจะกระทำตามเทคนิคทางการแพทย์ เพื่อให้มีโอกาสตั้งครรภ์สำเร็จได้ในวัย 35 ปีขึ้นไป

2.ตรวจคัดกรองโครโมโซม

หากมีแผนจะตั้งครรภ์ในอายุ 35 ปีขึ้นไป ควรทำการตรวจคัดกรองความผิดปกติของโครโมโซมก่อน เพื่อลดความเสี่ยงที่ทารกเกิดมาจะป่วยเป็นโรคพันธุกรรม

3.ตรวจภาวะเบาหวานและความดันโลหิตสูง

จากที่ได้กล่าวไปในข้างต้นว่าปัญหาสุขภาพบางอย่างเป็นอันตรายต่อชีวิตหากเกิดระหว่างตั้งครรภ์ เช่น ภาวะเบาหวานและความดันโลหิตสูง จึงจำเป็นต้องทำการตรวจภาวะดังกล่าวระหว่างตั้งครรภ์ หากพบความผิดปกติ แพทย์จะทำการรักษาได้อย่างทันท่วงที อาจให้คุณแม่คลอดก่อนกำหนด หรืออาจใช้วิธีอื่นที่เหมาะสม

4.ตรวจภาวะแทรกซ้อน

การตั้งครรภ์ในวัย 35 ปีขึ้นไป แพทย์จะทำการตรวจภาวะแทรกซ้อนด้วยการอัลตร้าซาวด์ โดยจะตรวจเมื่อคุณแม่มีอายุครรภ์ 5 เดือน เพื่อดูโครงสร้างร่างกายทารกในครรภ์ สามารถตรวจดูความผิดปกติของร่างกายทารกได้ และดูความผิดปกติของหัวใจทารกได้ หากเกิดภาวะผิดปกติ แพทย์จะวางแผนการรักษาต่อไป

4.ตรวจคัดกรองภาวะคลอดก่อนกำหนด

เนื่องจากการตั้งครรภ์ในช่วงอายุ 35 ปีขึ้นไป จะมีความเสี่ยงในเรื่องของภาวะคลอดก่อนกำหนดมากกว่าผู้หญิงที่อายุน้อยกว่า จึงควรตรวจคัดกรองภาวะคลอดก่อนกำหนด ซึ่งทำได้โดยการวัดความยาวปากมดลูกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงทางช่องคลอด (Transvaginal Cervical Length Measurement) สามารถลดอัตราการคลอดก่อนกำหนดได้ถึง 50%

ทั้งหมดนี้ก็เป็นเหตุผลที่ผู้หญิงอายุ 35 ปีขึ้นไป ควรทำการวางแผนมีบุตรให้ละเอียดมากกว่าคนที่มีอายุน้อยกว่านั้น เนื่องจากมีความเสี่ยงมากกว่า ที่จะกระทบต่อเด็กที่จะเกิดมา อีกทั้งยังมีความเสี่ยงที่การตั้งครรภ์อาจไม่สำเร็จสูงกว่าคนที่มีอายุน้อย จึงควรเข้ารับการปรึกษาแพทย์ในคลินิกผู้มีบุตรยากเมื่อต้องการมีบุตรก่อน จะเป็นผลดีมากกว่าที่จะปล่อยให้เกิดการตั้งครรภ์โดยธรรมชาติ

Previous post หมี-EV9″ นักธุรกิจไฟแรง!! เดินหน้าคืนกำไรสู่สังคม สู่ผู้ให้ที่ยิ่งใหญ่
Next post ฉลองชัยครบรอบ 6 ปี “มัลตี้ บิวตี้” รุกตลาดเครื่องสำอางมัลติแบรนด์ ก้าวสำคัญสู่ Mid-Size Retail Store ตั้งเป้าขยายสาขาครอบคลุมทั่วประเทศ
Social profiles