TTF 2024 รวมพลผู้นำธุรกิจท่องเที่ยว ถกประเด็นร้อนแนวโน้มปี 67 ชี้ไทยขึ้นแท่นจุดหมายปลายทาง ‘ไลฟ์สไตล์’ ระดับโลก ขณะที่ AI ช่วยขับเคลื่อนการท่องเที่ยวมาแรง

Read Time:5 Minute, 20 Second

อุตสาหกรรมการบริการและการท่องเที่ยวไทยเริ่มต้นปีอย่างร้อนแรง! ด้วยการสร้างปรากฎการณ์รวมตัวผู้นำธุรกิจทั้งจากภาครัฐและภาคเอกชนกว่า 1,000 คน ที่งาน Thailand Tourism Forum 2024 หรือ TTF 2024 สุดยอดการประชุมสัมมนาของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่ใหญ่ที่สุดในไทย ณ โรงแรมอินเตอร์คอนติเนนตัล กรุงเทพ ในวันนี้ (15 มกราคม 2566) โดยในปีนี้นับเป็นปีที่ 13 จัดขึ้นภายใต้คอนเซปต์ TIME FOR GROWTH (ช่วงเวลาแห่งการเติบโต) มุ่งเน้นประเด็นความสำคัญ ปัญหา และแนวโน้มในอนาคต รวมถึงแนวคิดการปรับตัวการท่องเที่ยวไทยและการสร้างภูมิทัศน์ด้านการบริการแบบใหม่ สู่การพลิกโฉม “การท่องเที่ยวไทย” ให้เป็นจุดหมายปลายทางระดับโลกอย่างยั่งยืน

การถกประเด็นร้อนของ TTF 2024 ดำเนินไปอย่างเข้มข้น โดยมีผู้เชี่ยวชาญด้านต่าง ๆ ร่วมเป็นผู้บรรยายและแชร์ประสบการณ์ วิสัยทัศน์ให้แก่ผู้เข้าร่วมงาน อาทิ คุณอดิทิพ ภาณุพงศ์ จากกูเกิ้ล (ประเทศไทย) มาแชร์หัวข้อที่น่าสนใจเกี่ยวกับ “AI” ที่สามารถช่วยพัฒนาการบริการในประเทศไทยได้อย่างไร? แพทริค โบธ (Patrick Both) จาก อินเตอร์คอนติเนนตัล โฮเต็ล แอนด์ รีสอร์ท ที่มาพูดคุยในหัวข้อ “การเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของโรงแรมไลฟ์สไตล์” ไปจนถึงการอภิปรายในหัวข้อ “การสร้างไทยให้เป็นจุดหมายปลายทางอาหาร” นำทีมโดย คุณนัฐธารี พันธุ์เพ็ญโสภณ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายปฏิบัติการ ร้านอาหารโคคาและแม็งโก้ทรี หัวข้อ “การปฏิรูปองค์กรด้านการบริการหลังโควิด” โดย เดวิด คีน (David Keen) ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง QUO (โคว) ผู้นำด้านการสร้างแบรนด์ รวมถึงการอภิปรายเกี่ยวกับ ภาพรวมของโรงแรมไลฟ์สไตล์ในประเทศไทย การสร้างแบรนด์อาหาร เครื่องดื่ม ความยั่งยืน และเทคโนโลยี ซึ่งยังคงเป็นจุดสนใจหลักของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย! ในขณะที่ JLL ได้แชร์ภาพรวมของการทำธุรกรรมโรงแรมเอาไว้ในงาน Horwath HTL เผยเกี่ยวกับภาคธุรกิจที่พักแรมและที่พักกลางแจ้งที่กำลังเกิดขึ้น และ STR ได้ให้ข้อมูลเจาะลึกถึง 3 ตลาดใหญ่ของไทย ได้แก่ จีน รัสเซียและอินเดีย

สำหรับประเด็นที่ผู้นำธุรกิจท่องเที่ยวไทยต่างให้ความสำคัญ คือทิศทางการเติบโตของการท่องเที่ยวไทยในปีนี้ โดยชี้ว่า ประเทศไทยถูกกำหนดตำแหน่งในฐานะจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวเชิง ไลฟ์สไตล์ ชั้นนำของโลก ในขณะที่ AI จะกลายเป็นตัวขับเคลื่อนสำคัญต่อความสำเร็จในอนาคตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของประเทศ

นายบิล บาร์เน็ต (Bill Barnett) กรรมการผู้จัดการซีไนน์ โฮเทลเวิร์คส (C9 Hotelworks) ผู้ก่อตั้ง TTF กล่าวว่า “AI จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจบริการ การท่องเที่ยว และโรงแรมทุกแห่ง ไม่ว่าพวกเขาจะตระหนักหรือไม่ก็ตาม แต่มันจะมาแรงอย่างแน่นอน สำหรับธุรกิจบริการนั้น ทรัพยากรมนุษย์ยังคงมีความสำคัญอันดับแรก เพราะเป็นเสน่ห์ของธุรกิจอย่างแท้จริง แต่ AI จะเป็นแสงสว่างที่ส่องประกายให้กับธุรกิจ เทคโนโลยีจะช่วยให้พนักงานและการบริการสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น”

ข้อโต้แย้งที่ว่า AI กำลังสร้างอุตสาหกรรมที่มีบุคลิกน้อยลง ถูกทำลายโดยวิทยากรคนสำคัญจาก Google ประเทศไทย คุณอดิทิพ ภาณุพงศ์ หัวหน้าอุตสาหกรรมฝ่ายพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ กูเกิ้ล (ประเทศไทย) ให้ความเห็นเกี่ยวกับประเด็นนี้ว่า เนื่องจากนักเดินทางใช้เวลาในการวางแผนมากขึ้น ธุรกิจต่าง ๆ จึงสามารถใช้ประโยชน์จาก AI เพื่อทำให้การเดินทางของพวกเขาง่ายขึ้น และทำให้ประสบการณ์ของพวกเขาเป็นส่วนตัวและราบรื่นมากขึ้นกว่าที่เคย” 

การเดินทางท่องเที่ยวของประเทศไทยเป็นเรื่องราวที่ยาวนานกว่า 40 ปี แต่วิวัฒนาการของการเดินทางนั้นเน้นไปที่ประสบการณ์ ซึ่งสะท้อนถึงรสนิยมและแรงบันดาลใจที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งเป็นการพิสูจน์ว่า “ไลฟ์สไตล์” คือมนต์เสน่ห์แห่งการท่องเที่ยวแบบใหม่ที่ก้าวข้ามระดับดาวของโรงแรม และมุ่งเน้นไปที่การตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์การเดินทางรายบุคคล 

เจสเปอร์ ปาล์มควิช (Jesper Palmqvist) ผู้อำนวยการอาวุโสภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก STR บริษัทในเครือ CoStar Group เผยว่า ด้วยประวัติศาสตร์การท่องเที่ยวอันยาวนาน บวกกับจิตวิญญาณของผู้ประกอบการ ความสนใจในด้านการออกแบบ และแรงดึงดูดจากนักลงทุน ไม่น่าแปลกใจเลยที่ตลาดโรงแรมไลฟ์สไตล์ในประเทศไทยกำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในเมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ และภูเก็ต แต่แนวโน้มนี้ยังเริ่มขยายไปสู่ตลาดรองในต่างจังหวัดด้วย”

ปัจจัยขับเคลื่อน “ไลฟ์สไตล์” ที่สำคัญ อาทิ ประสบการณ์ การออกแบบ ศิลปะ ความเป็นอยู่ที่ดี (wellbeing) และวิถีชีวิตท้องถิ่น รวมถึงอาหารและเครื่องดื่มก็เป็นปัจจัยสำคัญอย่างมากเช่นกัน

นายนิธี สีแพร รองผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ศาสตร์การทำอาหารถือเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างประสบการณ์การใช้ชีวิตที่ยกระดับในประเทศไทย โดยเฉพาะ “มิชลินไกด์” ได้ส่งเสริมการรับประทานอาหารคุณภาพสูงในประเทศไทยไปยังนักเดินทางทั่วโลก ซึ่งเราจะยังคงสร้างและขยายโปรไฟล์นี้ต่อไปเพื่อเป็นฟันเฟืองสำคัญให้กับการก้าวหน้าของธุรกิจท่องเที่ยวในไทยอย่างแน่นอน” 

ด้าน แพทริค โบธ (Patrick Bothผู้จัดการทั่วไป กลุ่มโรงแรมระดับหรูและไลฟ์สไตล์ประจำประเทศไทย อินเตอร์คอนติเนนตัล โฮเต็ล แอนด์ รีสอร์ท กล่าวว่า สำหรับเราสิ่งที่เราเรียกว่าการค้นพบคือการสร้างการมีส่วนร่วม ผู้คนเข้าถึงได้ผ่านอาหารการกิน การทำงานร่วมกันระดับชุมชน หรือการส่งมอบแบบใกล้ชิด เราให้ความสำคัญกับผู้คนมากกว่าบทบาทในการจ้างงาน สิ่งนี้สร้างความแตกต่างอย่างมาก

ขณะที่ มาร์ค เวนการ์ด (Mark Weingard) ผู้ก่อตั้ง อินิเอลากรุ๊ป (Iniala Group) ให้ข้อมูลอินไซด์ปิดท้ายว่า ความเป็นปัจเจกชน ความเป็นส่วนตัว และประสบการณ์การรับประทานอาหารที่ไม่เหมือนใครคือกุญแจสำคัญของ Iniala Group โดยเรามีสถานที่พักผ่อนสุดชิคของเหล่าคนดังอย่าง Iniala Beach House บนหาดนาใต้ ทางตอนเหนือของภูเก็ต โลกของเราหมุนรอบปัจเจกบุคคล เราสร้างสรรค์ทางเลือกและประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยมให้กับแขกของเรา ล่าสุดเราจึงได้เปิดร้าน Aulis ซึ่งจะมอบประสบการณ์เชฟเทเบิ้ลให้กับผู้เข้าพัก ด้วยร้านขนาด 15 ที่นั่งที่ร้าน Iniala Beach House บริหารงานโดย Simon Rogan เชฟระดับดาวมิชลิน และเชฟใหญ่ Oli Marlow

ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.thailandtourismforum.com

Previous post อาจารย์เทคนิคการแพทย์ ม.รังสิต รับโล่พระราชทาน สนับสนุนช่วยเหลือกิจกรรมการบริจาคโลหิต รพ.ศิริราช
Next post ประกันติดล้อ ร่วมสนับสนุนโครงการแจกไมโครอินชัวรันส์ ส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงความคุ้มครองด้านประกันภัย
Social profiles