บพข. กองทุน ววน. ร่วมกับ CAMP เปิดตัวแพลตฟอร์มล้านนาสร้างสรรค์ให้เป็น Soft Power สู่สากล ใช้ “Leisure Lanna Super App” ขยายผลเชื่อม TagThai-โลจิสติกส์ท้องถิ่น

Read Time:5 Minute, 34 Second

วิทยาลัยศิลปะ สื่อและเทคโนโลยี (CAMP) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เปิดตัวแพลตฟอร์มล้านนาสร้างสรรค์ให้เป็น Soft Power สู่สากล ภายใต้ทุนวิจัยจาก บพข. สกสว. โดยกองทุน ววน. พัฒนาแอพพลิเคชั่น ใช้แนวคิด PLAY TRAVEL and EARN โดยใช้ “Leisure Lanna Super App” ต่อยอดเชื่อม TAGTHAi (ทักทาย) ด้วยแนวคิดจากการเล่มเกมมาเปลี่ยนเป็นคะแนนเพื่อแลกส่วนลดในร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการ ตลอดจนร่วมมือ แอพพลิเคชั่น GOGO และ Hop and Go ของกรีนบัส โลจิสติกส์ท้องถิ่นให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนในพื้นที่ ในเขตพื้นที่ 8 จังหวัดล้านนา 

การพัฒนาแอปพลิเคชัน “Leisure Lanna Super App” ภายใต้โครงการ “การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อสร้างมูลค่าและคุณค่าแก่การท่องเที่ยวเชิงพักผ่อนล้านนา (Creative Leisure Lanna)” โดยมี ดร.ดนัยธัญ พงษ์พัชราธรเทพ เป็นหัวหน้าโครงการ ประยุกต์ใช้แนวคิดของ PLAY TRAVEL and EARN เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยว การเดินทาง การแนะนำสถานที่ ร้านค้า ที่พักหรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการนำเสนอข้อมูลเชิงการท่องเที่ยว การค้าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงพื้นที่ตลาด (Market Place) ให้กับสินค้ากับแหล่งท่องเที่ยวชุมชน ตลอดจนสร้างเครือข่ายการท่องเที่ยวชุมชนในเขตพื้นที่ 8 จังหวัดล้านนา เตรียมจัดอบรมเชิงปฏิบัติการด้านสื่อสร้างสรรค์ (Creative Content) ทั่วประเทศไทย 4 ภูมิภาค ให้กับ SMEs และท่องเที่ยวชุมชนจำนวน 120 ราย ออกแบบกิจกรรมการ ท่องเที่ยวและนำอัตลักษณ์ชุมชนมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถจำหน่ายผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ได้ โดยโครงการได้ร่วมมือกับ TAGTHAi (ทักทาย) แพลตฟอร์มบริการด้านการท่องเที่ยวและผู้ประกอบการด้านการขนส่งเพื่อการท่องเที่ยวโดยเชื่อมโยงกับระบบขนส่งสาธารณะในสองระดับคือ ในเขตเมืองเชียงใหม่คือการสร้างความร่วมมือกับระบบขนส่งสาธารณะขนาดเล็ก เช่น Sharing bike เช่น GOGO และผู้ให้บริการท่องเที่ยวด้วยพาหนะขนาดเล็ก เช่น E-Tuk Tuk ของ LoMo ขณะที่เชื่อมโยงสู่แหล่ง ท่องเที่ยวเชื่อมต่อในและนอกเมืองเชียงใหม่ รวมถึงกับจังหวัดโดยรอบผ่านเครือข่ายการให้บริการของระบบขนส่งสาธารณะภาคเหนือบริษัท Green Bus เป็นต้น ทั้งนี้หากสนับสนุนให้การท่องเที่ยวเชื่อมกับระบบขนส่งสาธารณะและเครือข่ายระบบขนส่งสาธารณะขนาดเล็กในเมือง เพื่อมุ่งสู่การสร้าง “Net Zero” ทางการท่องเที่ยว

ในการนี้บพข. กองทุน ววน. ร่วมกับ CAMP จัดกิจกรรมเปิดตัวแพลตฟอร์มล้านนา “Leisure Lanna Super App” ในวันที่ 15 มีนาคม พ.ศ.2567 ณ ห้องประชุมสภาองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้แอปพลิเคชัน “Leisure Lanna Super App” เป็นที่รับรู้สู่สาธารณชนและขับเคลื่อนนำไปใช้เพื่อเป็นแพลตฟอร์มกลางสนับสนุนการใช้ประโยชน์ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวอย่างเป็นรูปธรรม ได้รับเกียรติจากนายสรศักดิ์ วจีสัตย์ รองปลัด อบจ. จังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในพิธี และผู้แทนจาก สกสว. และ บพข. โดย ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สกสว. และประธานอนุกรรมการแผนงานท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. กล่าวแนะนำแผนงานกลุ่มท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. พร้อมทั้งจัดกิจกรรมประชาสัมพันธ์กางเกงข้างคุณภาพสูงเชียงใหม่ผ่านแบรนด์ 1) Thai Global Sourcing Co.,Ltd 2) Lofbaz Company Limited & Dalla Brand และ 3) Lanna Clothes Design Co.,Ltd ด้วยการถ่ายภาพนักศึกษาจีนจำนวน 30 ราย เพื่อนำไปประชาสัมพันธ์บนสื่อสังคมของชาวจีนให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น ปิดท้ายด้วยการเสวนาแนวทางการใช้ประโยชน์แอปพลิเคชัน Leisure Lanna เพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมและ Soft Power ล้านนา โดยสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวจังหวัดเชียงใหม่ แอปพลิเคชันทักทาย และ CAMT 

นายสรศักดิ์ วจีสัตย์ รองปลัด อบจ. จังหวัดเชียงใหม่ เป็นประธานในพิธี กล่าวว่า จังหวัดเชียงใหม่ถือเป็นเมืองการท่องเที่ยวที่สำคัญของภาคเหนือ มีหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชนของจังหวัดที่ได้ส่งเสริมการตลาดด้านการท่องเที่ยวเชิงพักผ่อน ซึ่งแอปพลิเคชันการท่องเที่ยว Leisure Lanna จะเป็นสื่อกลางในการรวบรวมข้อมูลสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ของจังหวัดเชียงใหม่ โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการจัดกิจกรรมในครั้งนี้จะเป็นประโยชน์ในการส่งเสริมการตลาดการท่องเที่ยวของจังหวัดเชียงใหม่ให้เกิดประสิทธิผล เป็นโมเดลในการใช้ดิจิทัลแพลตฟอร์มในการพัฒนาศักยภาพสินค้าและบริการการท่องเที่ยวให้มีความพร้อมในการรองรับและสนับสนุนการเป็นจุดหมายปลายทางที่มีคุณภาพ

ผศ.สุภาวดี โพธิยะราช ผู้เชี่ยวชาญอาวุโส สกสว. และประธานอนุกรรมการแผนงานท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ บพข. กล่าวว่า ในภาคของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ กองทุนส่งเสริม ววน. และสกสว. ได้มอบหมายภารกิจให้ บพข. บริหารจัดการแผนงานวิจัยการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งแบ่งออกเป็นแผนงานย่อย 2 แผนงาน (1) แผนงานการท่องเที่ยวมูลค่าสูง ซึ่งมีกรอบการดำเนินการภายใต้แผนงานย่อย จำนวน 3 ประเด็น ได้แก่ (1.1) การท่องเที่ยวบนฐานมรดกทางธรรมชาติที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและการท่องเที่ยวคาร์บอนสุทธิเป็นศูนย์ (1.2) การยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ (1.3) การยกระดับความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ และ (2) แผนงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่งมีกรอบการดำเนินการเพื่อการยกระดับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เพื่อเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ เน้นการทำงานแบบแผนงานวิจัยเพื่อร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจการท่องเที่ยว สร้างรายได้และคุณภาพชีวิตที่ดีให้แก่ประชาชนและผู้ให้บริการในภาคการท่องเที่ยว มุ่งตอบเป้าหมายสำคัญ เพื่อให้ประเทศไทยเป็นจุดหมายของการท่องเที่ยวที่เน้นคุณค่า ความยั่งยืน เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับประเทศ

​“ทั้งนี้แผนงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ดำเนินการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์มาอย่างต่อเนื่อง มีฐานทุนทางด้านการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม นำ Soft Power 11 สาขา ตามนโยบายของรัฐบาลมาต่อยอดร่วมกับภูมิปัญญาเดิม โดยแผนการดำเนินงานปีพ.ศ. 2566-2570 จะเป็นการเชื่อมโยงนวัตกรรม สร้างสรรค์ธุรกิจรูปแบบใหม่ พัฒนาไปสู่การบูรณาการระหว่างอุตสาหกรรมอื่นๆและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ซึ่งแผนงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ดูแลทั้งระบบนิเวศ พัฒนาสินค้าสร้างสรรค์รูปแบบใหม่ ๆ ผ่านเทคโนโลยีและนวัตกรรมร่วมกับอุตสาหกรรมสร้างสรรค์อื่น ๆ โดยผลลัพธ์จากงานวิจัยแผนงานเศรษฐกิจสร้างสรรค์ที่ผ่านมา อาทิ เทศกาลยี่เป็ง การท่องเที่ยวทางรถไฟ การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมอาหาร 7 ลุ่มน้ำ มวยไทย และผ้าทอ เป็นต้น มีการบูรณาการทำงานร่วมกับผู้ประกอบการและจะดำเนินการขับเคลื่อนต่อไปเพื่อให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ” ผศ.สุภาวดี กล่าวเสริม

Previous post “โก โฮลเซลล์” ผนึกกรมการค้าภายใน เชื่อมโยงผลไม้ตะวันออก จันทบุรี
Next post วิริยะประกันภัย ประกาศแผนงานปี 67 “มากกว่าความคุ้มครอง คือ ความคุ้มค่า”
Social profiles