กระทรวง อว. ผนึกกำลังไมโครซอฟท์ หนุนหลักสูตรทักษะด้านดิจิทัล ต่อยอดองค์ความรู้ภาคการศึกษา นำร่องด้วย 25 มหาวิทยาลัย

Read Time:3 Minute, 37 Second

วันพฤหัสบดีที่ 3 ตุลาคม 2562 – กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม และ ไมโครซอฟท์ ประกาศความร่วมมือในการพัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรมใน 3 ส่วนหลัก คือ 1) สนับสนุนการสร้างศักยภาพด้านดิจิทัลให้นักศึกษาทั่วประเทศ ด้วยโครงการ Microsoft Imagine Academy และ Microsoft Learn เริ่มต้นกับมหาวิทยาลัย 25 แห่ง พร้อมตั้งเป้าขยายอีก 100 แห่งทั่วประเทศ 2) ต่อยอดองค์ความรู้ให้งานวิจัยของมหาวิทยาลัยด้วยเทคโนโลยีบนแพลตฟอร์มคลาวด์ของไมโครซอฟท์ 3) ใช้เทคโนโลยีเป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนข้อมูลเพื่อพัฒนาศักยภาพการทำงานของกระทรวงฯ ทั้งหมดนี้มีเป้าหมายเพื่อพัฒนาบุคลากรให้มีคุณภาพและมีทักษะพร้อมรับมือกับทิศทางการเปลี่ยนแปลงในอนาคต

นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม กล่าวว่า “ภารกิจของกระทรวงฯ คือการวางรากฐานประเทศสู่อนาคต และเป็นกลไกขับเคลื่อนประเทศสู่ประเทศที่พัฒนาแล้ว  ผ่านการสร้างและพัฒนาคนให้มีโอกาสเท่าเทียมกันในการเรียนรู้ และพัฒนาองค์ความรู้และนวัตกรรม เพื่อขับเคลื่อนองค์ความรู้และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รวมไปถึงยกเครื่องมหาวิทยาลัย เพื่อเป็นหลักในการกำหนดทิศทางและยุทธศาสตร์ที่เป็นรูปธรรมของประเทศ ดังนั้น ความร่วมมือกับไมโครซอฟท์ด้วยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้ขับเคลื่อนภาคการศึกษา พร้อมด้วยความเชี่ยวชาญอันหลากหลาย จะเป็นหนึ่งฟันเฟืองสำคัญที่จะเข้ามาช่วยเติมเต็มศักยภาพในการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่สามารถตอบโจทย์ประเทศและประชาชนไทยได้เป็นอย่างดี”

นายธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “ไมโครซอฟท์ได้มุ่งมั่นให้การสนับสนุนกิจกรรมและโครงการต่างๆ มากมายเพื่อส่งเสริมการพัฒนาทักษะเชิงดิจิทัลให้กับบุคลากรทุกเพศ ทุกวัย ในทุกแห่งทั่วประเทศไทย การผนึกกำลังกับกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมในโอกาสนี้ จะช่วยเสริมสร้างตลาดแรงงานในประเทศไทยให้มีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น ด้วยบุคลากรคุณภาพที่เพียบพร้อมด้วยความสามารถสำหรับโลกยุคดิจิทัล ขณะที่ศูนย์รวมงานวิจัยบนแพลตฟอร์มคลาวด์ของเราก็จะนำประสบการณ์และความเชี่ยวชาญจากศูนย์วิจัยระดับโลกของไมโครซอฟท์มาเผยแพร่เพื่อเป็นประโยชน์แก่นักวิจัยชาวไทย เปิดประตูไปสู่โอกาสใหม่ๆ มากมายที่จะเข้ามายกระดับเศรษฐกิจ วิทยาการ และคุณภาพชีวิตให้กับคนไทยต่อไป”

การสร้างความร่วมมือในการพัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม ระหว่างกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม กับ ไมโครซอฟท์ ด้วยความร่วมมือกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ มีทั้งหมด 3 ด้าน ประกอบด้วย

1.สร้างศักยภาพด้านดิจิทัลให้กับนักศึกษาทั่วประเทศ ผ่านแพลตฟอร์มคลาวด์ของไมโครซอฟท์ในโครงการ Microsoft Imagine Academy และ Microsoft Learn เพื่อสร้างศักยภาพด้านดิจิทัลให้กับนักศึกษาทั่วประเทศ เพื่อให้มีคุณวุฒิรับรองทางด้านดิจิทัลโดยไมโครซอฟท์ รองรับกับความต้องการในตลาดแรงงานไทยที่ขยายกว้างในปัจจุบัน เริ่มต้นกับ 25 มหาวิทยาลัย อาทิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยศรีปทุม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง  มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี เป็นต้น และมีเป้าหมายที่จะขยายโครงการนี้ร่วมกันไปอีกกว่า 100 มหาวิทยาลัยทั่วประเทศเพื่อสร้างศักยภาพด้านดิจิทัลให้กับนักศึกษาทั่วประเทศ

2.สนับสนุนด้านงานวิจัยตามนโยบายของภาครัฐโดยใช้เทคโนโลยีบนแพลตฟอร์มคลาวด์ของไมโครซอฟท์ เข้ามาเพิ่มศักยภาพของงานวิจัยต่างๆ ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยในทุกแขนงร่วมกับหน่วยงานต่างๆ ภายใต้กระทรวง อว. อาทิ สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ  สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม โดยจะเปิดให้เข้าถึงแนวทางปฎิบัติ ความรู้ ความเชี่ยวชาญ จากศูนย์วิจัยไมโครซอฟท์ทั่วโลก เพื่อตอบโจทย์การใช้วิทยาศาสตร์และนวัตกรรมขับเคลื่อนประเทศตามนโยบายของกระทรวง อว. อาทิ Bio Circular Green Economy และ Genomic เป็นต้น

3.ศึกษาและหาแนวทางในการนำเอาเทคโนโลยีของไมโครซอฟท์ เข้าไปช่วยกระทรวง อว. ด้วยการนำข้อมูลมาใช้เป็นทรัพยากรหลักในการขับเคลื่อนการทำงานและมีเครื่องมือในการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ รายละเอียดแพลตฟอร์มคลาวด์ เพื่อการศึกษาของไมโครซอฟท์ ประกอบด้วย

Microsoft Imagine Academy คือ แหล่งทรัพยากรการเรียนรู้ ในรูปแบบสมาชิกรายปี สำหรับสถานศึกษา โดยมีหลักสูตรเนื้อหาที่สอดคล้องกับการสอบใบประกาศนียบัตรวิชาชีพ ของไมโครซอฟท์
Microsoft Learn คือ แหล่งทรัพยากรการเรียนรู้แบบเปิด ที่รวบรวมเนื้อหาองค์ความรู้ ของเทคโนโลยีและทักษะด้านดิจิทัล ให้ทุกคนสามารถเข้าถึงได้ทุกที่ทุกเวลา ในรูปแบบการเรียนรู้ออนไลน์
Previous post นักชกเยาวชนไทยประเดิมซิว 2 เหรียญทอง ที่ตุรกี
Next post เชิญเยาวชนร่วมประกวดโครงงาน “ศาสตร์พระราชา แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมชุมชน”
Social profiles