สรุปผลการแข่งขันเรือใบภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้าครั้งที่ 34 ประจำปี 2565 ทีมเรือไทยรุ่นพรีเมียร์ทวงแชมป์สำเร็จ 

Read Time:5 Minute, 27 Second

ประกาศความพร้อมดันไทยสู่การเป็น Premium Sports Event Destination of Asia พิธีมอบถ้วยรางวัลพระราชทานจัดขึ้น ณ บียอนด์ รีสอร์ต กะตะ ภูเก็ต

ภูเก็ต 10 ธันวาคม 2565 – การแข่งขันเรือใบชิงถ้วยพระราชทานภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้าครั้งที่ 34 ประจำปี 2565 ปิดฉากลงอย่างยิ่งใหญ่ ทีมเรือไทย Pine-Pacific คว้าแชมป์สำเร็จในรุ่นพรีเมียร์ ขณะที่การแข่งขันเรือใบเล็กประสบความสำเร็จอย่างงดงามด้วยเรือใบเยาวชนเข้าร่วมมากเป็นประวัติการณ์ถึง 2 เท่าของปีก่อน ๆ ตอกย้ำวิสัยทัศน์และความมุ่งมั่นในการพัฒนาวงการกีฬาเรือใบและนักกีฬาเรือใบไทยเติบโตอย่างยั่งยืน ร่วมกระตุ้นการท่องเที่ยวภูเก็ตในฐานะ Premium Sports Event Destination of Asia และเตรียมต้อนรับกีฬาเรือใบจากทั่วโลกในการแข่งขันปีหน้า 2-9 ธันวาคม 2566

ส่วนในรุ่นไออาร์ซี 0 (IRC Zero) ทีมเรือ THA 72 ของไทยผลัดกันชิงตำแหน่งผู้นำกับทีมคู่แข่งจากออสเตรเลียอย่างสูสี แต่สุดท้ายพ่ายคะแนนรวมคว้าเพียงอันดับสอง รุ่นไออาร์ซี 1 ผู้ชนะคือเรือ Char Chan จากญี่ปุ่น รุ่นครูซิ่ง คือ เรือ Fei Jian จากสวิตเซอร์แลนด์ และรุ่นมัลติฮัลล์ เรือ 2fast4you จากออสเตรียคว้าชัยไปได้สำเร็จ

การแข่งขันภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า 2022 ดำเนินการจัดการแข่งขันมาตั้งแต่วันที่ 3-10 ธันวาคม 2565 ประกอบด้วยการแข่งขันเรือใบใหญ่ประเภทคีลโบ้ตและมัลติฮัลล์ (Keelboats and MultiHulls Race) และการแข่งขันเรือใบเล็ก อินเตอร์เนชั่นแนล ดิงกี้ คลาส (International Dinghy Classes) โดยได้รับความสนใจจากนักกีฬาเรือใบชั้นนำทั่วโลกเข้าร่วมการแข่งขัน ทั้งไทย ออสเตรเลีย ฮ่องกง ญี่ปุ่น เอสโตเนีย สิงคโปร์ เดนมาร์ก สวีเดน จีน ออสเตรีย สหราชอาณาจักร อินเดีย และมาเลเซีย รวมจำนวนเรือใบทุกรุ่นที่เข้าร่วมแข่งขันทั้งสิ้นเกือบ 200 ลำ

การแข่งขันเรือใบเล็กในปีนี้ประสบความสำเร็จอย่างงดงามด้วยเรือใบเยาวชนเข้าร่วมมากเป็นประวัติการณ์ถึง 2 เท่าของปีก่อน ๆ สอดคล้องสโมสรเรือใบราชวรุณและสมาคมแข่งเรือใบแห่งประเทศไทยประกาศความมุ่งมั่นสร้างนักกีฬาเรือใบเล็กอย่างต่อเนื่อง มุ่งมั่นยกระดับให้ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้าเป็นหนึ่งในงานหลักของการแข่งขันเรือใบเล็กของภูมิภาคเอเชีย ซึ่งนอกจากจะช่วยสนับสนุนนักกีฬาเรือใบเล็กขึ้นสู่การแข่งขันในสนามระดับโลก ยังเป็นการสร้างนักกีฬาเรือใบใหญ่ในอนาคต ซึ่งจะช่วยพัฒนาวงการกีฬาเรือใบของเมืองไทยอย่างยั่งยืน

นายเควิน วิทคร๊าฟท์ ประธานกรรมการจัดการแข่งขันเรือใบชิงถ้วยพระราชทานภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า กล่าวว่า “ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้าครั้งที่ 34 ประสบความสำเร็จอย่างงดงามด้วยทัพเรือใบทั้งประเภทคีลโบ้ตและมัลติฮัลล์จากนานาประเทศ รวมถึงทีมนักกีฬาเรือใบเล็กที่เข้าร่วมแข่งขันมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ เพื่อร่วมชิงชัยความเป็นหนึ่งในศึกเรือใบอันทรงเกียรติแห่งเอเชีย และร่วมเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประเทศชาติ และจิตวิญญาณแห่งท้องทะเลไทย หลังจากเว้นว่างจากการจัดงานมานานถึงสามปี เรารู้สึกยินดีอย่างยิ่งที่ได้กลับมาจัดการแข่งขันอีกครั้ง เพื่อเริ่มต้น ‘อนาคตใหม่แห่งคิงส์คัพรีกัตต้า’ และแสดงให้ทั่วโลกได้ประจักษ์ว่าภูเก็ตและประเทศไทยพร้อมกลับมายิ่งใหญ่ในธุรกิจการท่องเที่ยวและกีฬาเรือใบอีกครั้ง ในนามของคณะกรรมการจัดการแข่งขัน ผมขอแสดงความยินดีกับผู้ชนะทุกท่านที่ได้เข้ารับถ้วยรางวัลพระราชทานในค่ำคืนนี้ และขอขอบคุณนักกีฬาทุกท่าน ตลอดจนผู้สนับสนุน คณะผู้จัดการแข่งขัน สโมสรเรือใบราชวรุณ กองทัพเรือ สมาคมแข่งเรือใบแห่งประเทศไทย และจังหวัดภูเก็ต ที่ร่วมกันทำให้งานครั้งนี้สำเร็จลงด้วยดี สุดท้ายนี้ ผมขอแจ้งให้ทุกท่านทราบว่าภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้าครั้งที่ 35 จะกลับมาเปิดศึกเรือใบที่ทวีความยิ่งใหญ่กว่าเดิม ในวันที่ 2-9 ธันวาคม 2566 ขอให้ทุกท่านเดินทางกลับโดยสวัสดิภาพ และพบกันใหม่ในภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้าครั้งต่อไป”

รายชื่อผู้ชนะการแข่งขันเรือใบใหญ่ประเภทคีลโบ้ตและมัลติฮัลล์ ภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้าครั้งที่ 34
รุ่นไออาร์ซี 0 – เรือ Team Hollywood กัปตันเรย์มอนด์ โรเบิร์ต จากออสเตรเลีย
รุ่นไออาร์ซี 1 – เรือ Char Chan กัปตันคาซูกิ คิฮาระ จากญี่ปุ่น
รุ่นพรีเมียร์ – เรือ Pine Pacific กัปตันอิทธินัย ยิ่งศิริ จากไทย
รุ่นครูซิ่ง – เรือ Fei Jian กัปตันจาค็อบ แฮนด์เท จากสวิตเซอร์แลนด์
รุ่นมัลติฮัลล์ – เรือ 2fast4you กัปตันเฮอร์มานน์ ชวาร์ซ จากออสเตรีย

รายชื่อผู้ชนะการแข่งขันเรือใบเล็ก อินเตอร์เนชั่นแนล ดิงกี้ คลาส คิงส์คัพรีกัตต้าครั้งที่ 34
รุ่นออพติมิสต์ชาย – ชนาธิป ทองกล่ำ จากไทย
รุ่นออพติมิสต์หญิง – ปริญ ทรัพย์ยิ่ง จากไทย
รุ่นสกิฟฟ์โบ้ต – นริสรา สัตตะ และ นิชาภา ไหวไว จากไทย
รุ่นไอแอลซีเอ 4 โอเพ่น – คีแนน ตัน จากสิงคโปร์
รุ่นไอแอลซีเอ 6 โอเพ่น – คู แซคารี จากสิงคโปร์
รุ่นไอแอลซีเอ 7 โอเพ่น – ประกาศิต หงส์ประดับ จากไทย
รุ่นโอเพ่นสกิฟฟ์ – อนันดี ชานดาวาร์คาร์ จากอินเดีย
รุ่น 420 – ทีมของ ปาลิกา พูนพัฒน์ และ จักรภัทร วิริยะกิตติ จากไทย
รุ่น 470 – ทีมของนาวี ธรรมสุนทร และ ปณิดา สุขสมพร จากไทย

การจัดงานภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้าในปีนี้ถือเป็นฟันเฟืองสำคัญในการกระตุ้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของจังหวัดภูเก็ตให้กลับมาฟื้นตัว ผ่านส่งเสริมการธุรกิจเรือใบและการท่องเที่ยวทางทะเลให้มีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยการจัดงานทุกครั้งที่ผ่านมาสามารถดึงดูดทีมเรือใบและเรือยอชท์กว่า 200 ลำ พร้อมนักกีฬาทั้งชาวไทยและชาวต่างชาตินับพันคนจากทั่วโลก ทำให้เกิดเงินสะพัดในจังหวัดภูเก็ตหลายร้อยล้านบาท ซึ่งส่งผลดีต่อผู้ประกอบการธุรกิจและประชาชนในท้องถิ่นอย่างมาก

การแข่งขันเรือใบชิงถ้วยพระราชทานภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า ดำเนินการโดยคณะกรรมการจัดงานการแข่งขันเรือใบภูเก็ตคิงส์คัพรีกัตต้า ภายใต้การอำนวยการของสโมสรเรือใบราชวรุณ โดยการสนับสนุนจากกองทัพเรือ สมาคมแข่งเรือใบแห่งประเทศไทย และจังหวัดภูเก็ต โดยมีผู้สนับสนุนการจัดงานคือ กะตะ กรุ๊ป รีสอร์ท, อาร์เอ็มเอ กรุ๊ป, บริษัท หาดทิพย์ จำกัด (มหาชน) และ เวิร์กฟอร์ซ อินเตอร์เนชั่นแนล

Previous post วช. ร่วมจัดงาน “ส้มสีทอง” จังหวัดน่าน ประจำปี 2565 ผลักดันส้มสีทองสู่ตลาดสากล 
Next post วช. มช. และ ค.พ.ท. เสวนา “อนาคตและทิศทางการส่งออกอุตสาหกรรมการเลี้ยงแพะ” เพื่อยกระดับเกษตรกรผู้เลี้ยงแพะภาคเหนือ 
Social profiles