วช. เผยผลสำเร็จ นักวิจัยมหิดล วิจัยชุดตรวจคัดกรองโรคในปาก รู้ผลไว

Read Time:3 Minute, 21 Second

ประเทศไทยได้ก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2564 หนึ่งในปัญหาสุขภาพของผู้สูงอายุที่ต้องเผชิญ คือ โรคในช่องปาก ที่ส่งผลให้ผู้ป่วยสูงวัยที่มีภาวะโรคดังกล่าวมีคุณภาพชีวิตที่ไม่ดี ศาสตราจารย์ ดร.ทันตแพทย์หญิง วรานันท์ บัวจีบ หัวหน้าโครงการวิจัยนวัตกรรมชุดตรวจคัดกรองโรคในปาก จึงได้เริ่มการศึกษาโรคดังกล่าวในประชากรสูงวัย เพื่อนำข้อมูลที่สำคัญมาวิเคราะห์เตรียมความพร้อมให้ผู้สูงวัยมีบั้นปลายชีวิตที่เป็นสุข


ศาสตราจารย์ ดร. ทันตแพทย์หญิง วรานันท์ บัวจีบ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.จำรัส พร้อมมาศ ดร.เบญจพร เลิศอนันตวงศ์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล รองศาสตราจารย์ ดร.พัชรี เจียรนัยกูร คณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ได้รับทุนสนับสนุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ในแผนงานทุนท้าทายไทย เพื่อรองรับสังคมสูงวัย ในการคิดค้นนวัตกรรม ชุดตรวจคัดกรองโรคในปาก ของผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว เพื่อพัฒนาชุดตรวจให้มีประสิทธิภาพ รู้ผลได้เร็ว เนื่องจากผู้ป่วยมะเร็งช่องปากในระยะแรก มักไม่ทำให้ผู้ป่วยมีอาการเจ็บปวด ทำให้มักจะมาพบทันตแพทย์เมื่อโรคลุกลามมาก การป้องกัน และเฝ้าระวังการเกิดมะเร็งช่องปากจึงมีความสำคัญ และจำเป็น จากข้อมูลในปัจจุบันพบว่ามะเร็งช่องปากมีความสัมพันธ์กับปัจจัยเสี่ยงหลายประการ ได้แก่การสูบบุหรี่ การดื่มสุรา การเคี้ยวหมาก รวมทั้งการติดเชื้อไวรัส HPV


ทีมผู้วิจัยตระหนักถึงความเสี่ยงของการติดเชื้อ HPV ในช่องปาก ที่อาจส่งผลให้เกิดความผิดปกติของเซลล์จนกลายเป็นมะเร็งของเยื่อเมือกช่องปาก จึงพยายามพัฒนาให้มีวิธีการคัดกรองไวรัส HPV ในช่องปากเบื้องต้นที่ทำได้รวดเร็ว เพื่อนำไปสู่การวิเคราะห์และการตรวจสอบหารอยโรคที่เสี่ยงสูงต่อการกลายเป็นมะเร็งทั้งนี้ในผู้สูงอายุมักพบรอยโรคที่เสี่ยงสูงต่อการกลายเป็นมะเร็งของเยื่อเมือกในช่องปากที่สำคัญ ได้แก่ รอยโรคลิวโคเพลเคียและรอยโรคไลเคน แพลนัส การมีไวรัส HPV ในรอยโรคดังกล่าวอาจเพิ่มความเสี่ยงต่อการกลายเป็นมะเร็งช่องปาก


นวัตกรรมชุดตรวจคัดกรองโรคในปาก ได้ถูกนำมาตรวจคัดกรอง HPV ในรอยโรคลิวโคเพลเคียและรอยโรคไลเคน แพลนัส โดยการใช้แปรงขนนิ่มขนาดเล็กขูดเซลล์ที่รอยโรคดังกล่าวไปตรวจหาไวรัส จัดว่าเป็นวิธีที่สะดวก ทำได้ง่าย ไม่ก่อให้เกิดแผลหรือความเจ็บปวด และยังช่วยในการเฝ้าระวังและติดตามโรค รวมถึงให้การรักษาที่เหมาะสมได้อย่างรวดเร็ว อันจะเป็นประโยชน์แก่ผู้สูงอายุ โดยขั้นตอนของการตรวจ หลังจากการทำปฏิกิริยาที่ใช้เพิ่มปริมาณดีเอ็นเอ เพื่อเพิ่มปริมาณไวรัสที่จะตรวจแล้วจะใช้วิธีตรวจที่พัฒนาขึ้นนี้ทดแทนการรันเจลที่ใช้เวลานานกว่า เพื่อตรวจสอบผลการคัดกรองมะเร็งจากเชื้อไวรัสด้วยเทคนิคเคมีไฟฟ้า โดยการผสมสีที่เมื่อแตกตัวแล้วส่งสัญญานไฟฟ้าได้ สีดังกล่าวจะมีการเตรียมให้จำเพาะต่อดีเอ็นเอของไวรัสที่เกี่ยวข้องกับการคัดกรองมะเร็ง ดังนั้นหากพบดีเอ็นเอของเชื้อไวรัส สีดังกล่าวจะเข้าจับ และเกิดกระแสไฟฟ้าขึ้น ซึ่งปริมาณของกระแสไฟฟ้าที่เกิดขึ้นขึ้นอยู่กับปริมาณหรือจำนวนของเชื้อไวรัส การทดสอบขั้นตอนนี้ทำได้ง่ายด้วยการหยดดีเอ็นเอที่ติดสีดังกล่าวเพียงหยดเดียวลงบน strip test ที่ทางโครงการวิจัยได้พัฒนาขึ้น แล้วใช้เครื่องอ่านผลปฏิกิริยาเคมีไฟฟ้าแบบพกพาขนาดเล็กที่มีการใช้อยู่แล้ว โดยเชื่อมต่อสัญญาณกับเครื่องคอมพิวเตอร์ ทำให้ทราบผลการวัดในเวลารวดเร็ว


ดร.วิภารัตน์ ดีอ่อง ผู้อำนวยการสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ กล่าวว่า วช. สนับสนุนงานวิจัยด้านผู้สูงอายุอย่างต่อเนื่องเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้อายุให้ได้รับการบริการด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัย โดยการนำองค์ความรู้ต่างๆ ขับเคลื่อนผลงานวิจัย นวัตกรรมและเทคโนโลยี ไปสู่การขยายผลต่อกลุ่มเป้าหมายและผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างเป็นรูปธรรม รวมทั้งยังเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานของเจ้าหน้าที่ ซึ่งนวัตกรรมชุดตรวจคัดกรองโรคในปาก เป็นชุดตรวจที่สะดวก ทำได้ง่าย ไม่ก่อให้เกิดแผลและสามารถลดระยะเวลาในการทำงานได้เป็นอย่างดี

Previous post ณุศาศิริ (มหาชน) เปิดแพลตฟอร์มสุขภาพและการแพทย์ MORHELLO จับมือ รพ.พานาซี พระราม 2 ร่วมฝ่ามหันตภัยโควิด 19
Next post เมอร์เซเดส-เบนซ์ เปิดตัว “StarParts” อะไหล่รถยนต์มาตรฐานใหม่ ที่เข้าถึงง่าย
Social profiles