ส่อง Top 5 มะเร็งยอดฮิตในผู้ชายและผู้หญิง แนะป้องกันก่อนคุกคามชีวิต 

Read Time:4 Minute, 34 Second

ปัญหาด้านสุขภาพกลายเป็นสิ่งที่หลายคนเกิดความกังวลเป็นอันดับต้น ๆ ในปัจจุบัน ท่ามกลางภาวะที่เกิดการแพร่ระบาดของโรคติดต่อ ทั้งโรคอุบัติเก่าโรคอุบัติใหม่ที่เกิดขึ้น และกลายพันธ์อย่างรวดเร็วไม่เว้นแต่ละวัน จนตามแนวทางการรักษาหรือป้องกันกันไม่ทัน  ที่เห็นได้ชัดเจนก็คือการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส Covid-19 แต่ขณะเดียวกันโรคที่ไม่ติดต่ออย่าง “โรคมะเร็ง” ยังคงครองแชมป์ โรคร้ายที่สร้างความกังวลกับผู้คนทั่วโลกมาอย่างต่อเนื่องถึงปัจจุบัน ด้วยมีอัตราการเสียชีวิตสูง จากตัวเลขของ wordometers.info ประเมินว่า ในช่วงปีที่ผ่านมา พบว่ามีผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งไปแล้ว 5.12 ล้านคน และซึ่งเมื่อย้อนกลับไปปี 2563 พบจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคมะเร็งมากถึง 10 ล้านคน จากการประเมินของ Globocan ในการเก็บข้อมูลจาก 185 ประเทศ ขณะที่ประเทศไทยหากไม่นับอัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุแล้ว โรคมะเร็งก็ยังคงครองแชมป์สาเหตุคร่าชีวิตประชากรไทยเป็นลำดับต้น ๆ มานานกว่า 20 ปี นับตั้งแต่ปี 2542 ถึงปัจจุบัน ข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ยังสะท้อนให้ตัวเลขเหตุคนไทยเสียชีวิตจากโรคมะเร็ง เฉลี่ยสูงถึงวันละ 221 ราย หรือแตะ 80,665 รายต่อปี และเมื่อเจาะลึกลงไปในข้อมูลพบจำนวนผู้ป่วยรายใหม่จากมะเร็งเฉลี่ยถึงวันละ 336 ราย หรือ  122,757 รายต่อปี และกลายเป็นเรื่องใกล้ตัวมากขึ้นทุกวัน เมื่อดารานักแสดงและศิลปิน ป่วยและเสียชีวิตด้วยโรงมะเร็งในปัจจุบันบ่อยขึ้น

นายแพทย์ธนุตม์ ก้วยเจริญพานิชก์ ผู้อำนวยการ โรงพยาบาลมะเร็งชีวามิตรา โรงพยาบาลเอกชนเฉพาะทางโรคมะเร็งแห่งแรกในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้ข้อมูลว่า เมื่อเปรียบเทียบอัตราผู้ป่วยมะเร็งในช่วงปีที่ผ่านมาแล้ว กลับพบว่าในแต่ละวันมีคนไทยเป็นผู้ป่วยมะเร็งรายใหม่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องมากกว่าปีที่ผ่านมา ซึ่งนั้นเป็นสัญญาณที่สะท้อนถึงวิถีชีวิตของคนในปัจจุบัน ด้วยพฤติกรรมการใช้ชีวิตประจำวันที่นำพาตนเองเข้าใกล้มะเร็งแบบไม่รู้ตัว  เช่น การดื่มแอลกอฮอล์ การสูบบุหรี่จัด และเกิดภาวะความเครียดเป็นประจำ  จากความกดดันด้านการงาน การเงิน และครอบครัว สะท้อนให้เห็นได้ชัดเจนว่าโรคมะเร็งไม่ใช่เรื่องไกลตัวอีกต่อไป ทุกคนมีโอกาสป่วยเป็นมะเร็ง และมีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิต ขึ้นอยู่กับว่ามะเร็งอยู่ในระยะลุกลามระดับใด ฉะนั้นการตั้งใจดูแลตัวเองเชิงป้องกันสำหรับผู้ที่ยังไม่ได้ป่วยเป็นโรคมะเร็ง และสามารถการดูแลตัวเองเชิงรักษาอย่างทันท่วงทีและเหมาะตามระยะของโรคมะเร็งจึงเป็นเรื่องที่ควรตระหนักและให้ความสำคัญ

มะเร็งที่พบบ่อยสุดในคนไทย แบ่งเป็น มะเร็งในผู้ชายพบ เฉลี่ย169.3 คน ต่อประชากร 1 แสนคน ติดอันดับที่ 15 ของเอเชีย โดย 5 อันดับแรกของมะเร็งในเพศชายคือ  1. มะเร็งตับและท่อน้ำดี 2. มะเร็งปอด 3. มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง 4. มะเร็งต่อมลูกหมาก และ 5. มะเร็งต่อมน้ำเหลือง  

ขณะที่มะเร็งในผู้หญิง จากสถิติพบป่วยเป็นมะเร็ง 151 คนต่อประชากร 1 แสนคน อยู่ในอันดับ 18 ของเอเชีย โดยโรคมะเร็งที่พบบ่อยในเพศหญิง 1. มะเร็งเต้านม 2. มะเร็งตับและท่อน้ำดี 3. มะเร็งปากมดลูก 4. มะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง และ 5.มะเร็งปอด 

พุทธภาษิตที่ว่า “อโรคยา ปรมา ลาภา” หรือ “การไม่มีโรค เป็นลาภอันประเสริฐ” ยังคงเป็นประโยคที่เป็นจริงมาจนถึงปัจจุบัน เพราะคุณภาพชีวิตที่ดี เป็นสิ่งที่ทุกคนปรารถนา ฉะนั้นทุกคนสามารถเริ่มปรับพฤติกรรม โดยคำนึงถึงการป้องกัน ให้ห่างไกลโรคมะเร็งด้วย 4 ข้อ ได้แก่ 

1.    ลด ละ เลิก สูบบุหรี่ เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมครั้งสำคัญ ลดความเสี่ยงจากมะเร็งปอดและโรคอื่น ๆ ที่มีสาเหตุมาจากบุหรี่  

2.   ทานอาหารที่มีประโยชน์ ผัก ผลไม้ที่อุดมไปด้วยวิตามินและแร่ธาตุที่จำเป็นในการต่อสู้กับมะเร็ง 

3.   ออกกำลังกายให้มากขึ้น ครั้งละ 30 นาที 5 วันต่อสัปดาห์ ช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดมะเร็งหลายชนิด อาทิ มะเร็งปอด มะเร็ง เต้านม มะเร็งต่อมลูกหมาก และมะเร็งลำไส้ใหญ่และไส้ตรง 

4.   หลีกเลี่ยงการเผชิญกับสารเคมีอันตราย สารจำพวก ยาฆ่าแมลง น้ำยาทำความสะอาด น้ำมันเบนซินนั้นเต็มไปด้วยสารเคมีอันตรายที่เกี่ยวโยงกับการเกิดมะเร็ง เป็นต้น  

ทั้งนี้ นอกเหนือจากการป้องกันแล้ว การดูแลตนเอง มั่นค่อยสังเกตความผิดปกติของร่างกายถือเป็นหนึ่งสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน ควรหมั่นตรวจเช็คความผิดปกติของร่างกายด้วยการตรวจสุขภาพอย่างสม่ำเสมอ นับเป็นตัวช่วยส่งสัญญาณล่วงหน้าของโรคมะเร็ง เพื่อให้เราสามารถตั้งหลักรับมือกับมะเร็งได้อย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ ได้แก่

1.     ระบบย่อยอาหารทำงานผิดปกติ ย่อยยาก หรือขับถ่ายยากเป็นเวลานาน เช่น ท้องผูกสลับท้องเสีย ปัสสาวะเป็นเลือด เป็นต้น  

2.     มีเลือดออกผิดปกติ เช่น ทางช่องคลอดหรือเลือดกำเดาไหลบ่อย ๆ  

3.     มีแผลเรื้อรังไม่หายใน 3 สัปดาห์  

4.     มีก้อนที่เต้านมหรือตามตัว ไฝโตขึ้น หรือเปลี่ยนสี  

5.     ไอเรื้อรังหรือเสียงแหบ  

6.     ร่างกายทรุดโทรม น้ำหนักลดโดยไม่ตั้งใจ  

7.      ประสิทธิภาพการได้ยินลดลง หรือหูอื้อเรื้อรัง เป็นต้น

การตรวจจับสัญญาณเหล่านี้ ช่วยให้สามารถวิเคราะห์การรักษามะเร็ง รวมทั้งเพิ่มโอกาสในการรักษาให้เป็นปกติได้มากขึ้น

Previous post ไข่หวานบ้านซูชิ เติมความหวานตลอดเดือนแห่งความรัก กับ Salmon Sweetheasrt 
Next post ยางโตโยไทร์ เดินหน้าร่วมสนับสนุนการแข่งขันTOYO TIRES SCHAEFFLER RACING CAR THAILAND 2022 พร้อมประกาศรางวัลแชมป์ประเทศไทย สุดยิ่งใหญ่ 
Social profiles