“มะเร็งเต้านม” รู้ก่อนปลอดภัยกว่า เรื่องใกล้ตัวที่ผู้หญิงไม่ควรมองข้าม ศูนย์เต้านม โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ วินิจฉัยและรักษาเร็ว พร้อมส่งมอบการดูแลแบบไร้รอยต่อ

Read Time:7 Minute, 33 Second

ในปัจจุบัน ปัญหาเกี่ยวกับเต้านม เป็นปัญหาของผู้หญิงโดยส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นก้อนเนื้อที่เต้านมชนิดไม่ร้ายแรงหรือถุงน้ำที่เต้านม ไปจนถึงก้อนเนื้อที่เป็นมะเร็ง โดยโรคมะเร็งเต้านม เป็นมะเร็งที่พบได้บ่อยเป็นอันดับ 1 ของผู้หญิงทั่วโลก จากสถิติขององค์การอนามัยโลก มีผู้หญิงเป็นมะเร็งเต้านมกว่า 2 ล้านคนต่อปี และเสียชีวิตกว่า 685,000 รายทั่วโลก ในขณะที่ ข้อมูลจากกรมการแพทย์ สถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบว่า มีผู้หญิงไทยป่วยเป็นมะเร็งเต้านม 18,000 คนต่อปี หรือคิดเป็น 49 คนต่อวัน และเสียชีวิต 4,800 คนต่อปี หรือ 13 รายต่อวัน โดยจำนวนของผู้ป่วยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่องทุกปี ทั้งนี้ ไม่ใช่แค่ผู้หญิงเท่านั้นที่เป็นมะเร็งเต้านม ประมาณ 0.5-1% ของมะเร็งเต้านมสามารถเกิดขึ้นได้ในผู้ชาย

ภญ. อาทิรัตน์ จารุกิจพิพัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า งานแถลงข่าวของศูนย์เต้านม โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ได้จัดขึ้นเพราะเราตระหนักถึงปัญหา และมุ่งหวังที่จะช่วยรักษาผู้ที่มีอาการหรือมีความผิดปกติของเต้านมอย่างครอบคลุม ทั้งโรคทั่วไปและโรคที่ร้ายแรงและมีความซับซ้อน ซึ่งการที่เรามีคลินิกเฉพาะทาง โดยมีทีมแพทย์ที่มีประสบการณ์ มีเครื่องมือที่ทันสมัยจะเอื้อประโยชน์ในการตรวจวินิจฉัยและรักษาผู้ป่วยได้ตรงจุด และทำให้ผู้ป่วยหายขาดจากภาวะเจ็บป่วยและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นได้

ศูนย์เต้านมเป็นหนึ่งในศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะทางของโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ ซึ่งมีผลลัพธ์การรักษาที่ดีมาก เรามีอัตราการรอดชีวิตสูง และมีอัตราการกลับมาเป็นซ้ำต่ำ ผลลัพธ์เหล่านี้ต้องอาศัยประสบการณ์และความชำนาญของทีมแพทย์ ซึ่งอยู่ภายใต้การดูแลของ รศ. นพ. วิชัย วาสนสิริ หัวหน้าศูนย์เต้านม รวมถึงทีมแพทย์สาขาอื่นๆ และทีมสหสาขาวิชาชีพที่ทำงานร่วมกันได้อย่างไร้รอยต่อ

รศ. นพ. วิชัย วาสนสิริ หัวหน้าศูนย์เต้านม โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า ที่ศูนย์เต้านม โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เราดูแลผู้ป่วยได้อย่างครบวงจรแบบองค์รวม โดยเราให้คำปรึกษา ตรวจวินิจฉัย และดูแลรักษาผู้ป่วยที่มีปัญหาเกี่ยวกับเต้านมในทุกมิติ เช่น มะเร็งเต้านม ก้อนที่เต้านม อาการเจ็บเต้านม พังผืดและถุงน้ำที่เต้านม ภาวะเต้านมอักเสบ และปัญหาอื่นๆ โดยมีการทำงานร่วมกันเป็นทีม ระหว่างทีมแพทย์ด้วยกันเองและทีมแพทย์กับสหสาขาวิชาชีพ ได้แก่ ศัลยแพทย์ด้านเต้านม, แพทย์รังสีวินิจฉัย, อายุรแพทย์ด้านโรคมะเร็ง, แพทย์รังสีรักษาและมะเร็งวิทยา, พยาธิแพทย์, เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ, นักรังสีเทคนิค, นักกายภาพบำบัด, พยาบาลวิชาชีพ, นักโภชนาการและเภสัชกร ผ่านการประชุม Multidisciplinary Team Breast Conference เพื่อการรักษาที่ตรงจุด แม่นยำ เกิดผลข้างเคียงน้อย และให้ผลการรักษาที่ดีขึ้น โดย 3 หัวใจหลักของการรักษามะเร็งเต้านมที่บำรุงราษฎร์ คือ วินิจฉัยเร็ว (Fast Diagnosis), รักษาเร็ว (Fast Treatment) และผลลัพธ์การรักษาเป็นเลิศและมีความปลอดภัย (Excellent Outcome)

พญ. สุดารัตน์ ชัยเพียรเจริญกิจ แพทย์ชำนาญการด้านศัลยศาสตร์เต้านม โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวว่า หัวใจหลักที่ใช้ในการตรวจวินิจฉัยว่าเป็นหรือไม่เป็นมะเร็ง นั่นคือ Triple Assessment ได้แก่ ตรวจคัดกรอง ส่งชิ้นเนื้อ และพบศัลยแพทย์เต้านม ซึ่งผู้ป่วยสามารถทราบผลตรวจวินิจฉัยได้ภายใน 72 ชั่วโมง

เมื่อผู้ป่วย 1 คน สงสัยว่าตัวเองคลำเจอก้อนที่เต้านมหรือมาด้วยอาการผิดปกติที่เต้านม จะส่งตรวจอัลตราซาวด์สำหรับผู้ป่วยที่อายุน้อยกว่า 35 ปี ส่วนผู้ที่อายุมากกว่า 35 ปี จะส่งตรวจแมมโมแกรมและอัลตราซาวด์ในวันนั้นเลย หลังจากที่ผลออกมาแล้วพบความผิดปกติ แพทย์จะเจาะชิ้นเนื้อโดยใช้เครื่องอัลตราซาวด์บอกตำแหน่งสำหรับคนตรวจคัดกรองด้วยอัลตราซาวด์ แต่ถ้าตรวจคัดกรองด้วยแมมโมแกรม แพทย์จะเจาะชิ้นเนื้อโดยใช้เครื่องแมมโมแกรมบอกตำแหน่ง และผู้ป่วยที่มีประวัติคนในครอบครัวเคยเป็นมะเร็งเต้านมหรือเคยเสริมหน้าอกด้วยซิลิโคน จะส่งทำ MRI เต้านมเพิ่ม เพื่อตรวจเช็คให้ละเอียดว่าเต้านมมีความผิดปกติหรือไม่

พญ. ปิยวรรณ เกณฑ์สาคู แพทย์ชำนาญการด้านศัลยศาสตร์เต้านม โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวเสริมว่า การตรวจเจอมะเร็งในระยะเริ่มต้นและรักษาได้เร็ว จะทำให้การรักษาได้ผลดี และเพิ่มโอกาสรอดชีวิต ดังนั้น หลังจากที่ผู้ป่วยทราบผลตรวจว่าเป็นมะเร็ง เราสามารถทำการผ่าตัดได้ภายใน 1 สัปดาห์ โดยการผ่าตัดที่ศูนย์เต้านม โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ มีแนวทางหลากหลายตามความเหมาะสม ได้แก่ การผ่าตัดแบบสงวนเต้านม, การผ่าตัดออกทั้งหมดและเสริมสร้างเต้านมใหม่, การผ่าตัดเต้านมออกทั้งหมด

นพ. ธีรภพ ไวประดับ แพทย์ชำนาญการด้านศัลยศาสตร์เต้านม โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ เปิดเผยว่า ความปลอดภัยในการผ่าตัดและคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยหลังการผ่าตัด เป็นหัวใจหลักในการดูแลรักษา เรามีตัวเลขที่ยืนยันถึงผลสำเร็จต่างๆ ในปีที่ผ่านมา เช่น การติดเชื้อหลังผ่าตัดมะเร็งเต้านม 0%, การเกิดภาวะแทรกซ้อนน้อยกว่า 1% ที่ต้องผ่าตัดซ้ำภายใน 72 ชั่วโมง, ผู้ป่วยสามารถเคลื่อนไหวข้อไหล่ หัวไหล่หลังผ่าตัดได้ทันที ผ่านโปรแกรมการทำกายภาพบำบัดก่อน-หลัง และมีการติดตามผลการรักษาหลังผ่าตัดเพื่อให้ข้อไหล่มีการเคลื่อนไหวได้ มากกว่า 90 องศา ได้ 100%

ทั้งนี้ การผ่าตัดมะเร็งเต้านม นอกจากความปลอดภัยของผู้ป่วยในการรักษาโรคให้หายขาด เรายังคำนึงถึงความสวยงามของเต้านม เพื่อรักษาอวัยวะที่ช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้หญิงไว้อย่างดีที่สุด โดยเราสามารถทำการผ่าตัดมะเร็งเต้านมออกแล้วเสริมใหม่ได้ทุกรูปแบบของเต้านม ทั้งใช้เนื้อเยื่อหน้าท้อง เนื้อเยื่อด้านหลัง หรือการใช้ซิลิโคน แม้แต่คนที่เคยผ่าตัดเต้านมออกไป 1 ข้าง แล้วอยากเสริมใหม่อีก 1 ข้าง เราก็สามารถทำให้ทั้ง 2 ข้างเท่ากันได้

นพ. หฤษฎ์ สุวรรณรัศมี แพทย์ชำนาญการด้านมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อธิบายว่า การรักษาผู้ป่วยมะเร็งเต้านมมีหลายวิธี เช่น การผ่าตัด การให้ยาเคมี การฉายแสง การให้ยาต้านฮอร์โมน การให้ยามุ่งเป้า และการให้ยากลุ่มภูมิคุ้มกันบำบัด ซึ่งการให้ยาผู้ป่วยหลังผ่าตัดมะเร็งเต้านมจะช่วยลดโอกาสของการกลับมาเป็นซ้ำ โดยบำรุงราษฎร์มียาที่ได้รับการรับรองข้อบ่งใช้ในโรคมะเร็งแต่ละชนิดอย่างครอบคลุม โดยเราจะเลือกยาให้เหมาะกับผู้ป่วยแต่ละราย นอกจากนี้ เรายังมีการตรวจการแสดงออกของยีนในตัวมะเร็ง (Genomic risk) เพื่อบอกโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำหลังผ่าตัดมะเร็งเต้านม และหากเป็นมะเร็งเต้านมระยะเริ่มต้น การตรวจยีนจะช่วยทำให้เรารู้ว่าหากต้องให้ยาเคมีบำบัด ผู้ป่วยจะได้รับประโยชน์จากการให้ยาหรือไม่ ซึ่งเป็นการรักษาแบบ Precision Oncology ทำให้แพทย์สามารถเจาะจงใช้ยารักษามะเร็งที่เหมาะสม พร้อมวางแผนหลีกเลี่ยงผลข้างเคียงที่มีโอกาสเกิดขึ้นได้ตั้งแต่แรก

นพ. อภิชาต พานิชชีวลักษณ์ แพทย์ผู้ชำนาญด้านรังสีรักษาและมะเร็งวิทยา โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อธิบายว่า การฉายรังสีโรคมะเร็งเต้านมในปัจจุบัน การผ่าตัดจะเน้นทำการผ่าตัดแบบถนอมเต้านมไว้ ซึ่งต้องฉายรังสีร่วมด้วยเสมอ โดยผลการรักษาเทียบเท่ากับการผ่าตัดเต้านมออกและยังคงอวัยวะเต้านมนั้นไว้มีความสำคัญมากสำหรับสตรี การรักษาในปัจจุบันใช้เวลาสั้นมากขึ้นจากเดิม 6 สัปดาห์เหลือเพียงแค่ 4 สัปดาห์ และในแต่ละครั้งของการใช้รังสีใช้เวลาเพียง 10 นาทีเท่านั้น นอกจากนี้ ยังมีเทคโนโลยีมาช่วยควบคุมการเคลื่อนไหวของร่างกายขณะฉายแสง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหายใจ ทำให้มีการความปลอดภัยต่ออวัยวะข้างเคียงไม่ว่าจะเป็นผิวหนัง ปอด หรือ หัวใจ ในกรณีฉายแสงในมะเร็งเต้านมข้างซ้าย แผนการรักษาด้วยรังสีรักษาจะมีการประชุมร่วมกับทีมแพทย์เพื่อหาแนวทางการรักษาที่เหมาะสมในผู้ป่วยแต่ละราย

ผศ.นพ. พลกฤต ทีฆคีรีกุล แพทย์ชำนาญการด้านพันธุกรรม โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ อธิบายว่า การตรวจยีนผิดปกติที่ทำให้เกิดมะเร็งเต้านม ควรเริ่มจากการดูประวัติของคนในครอบครัวที่เคยเป็นมะเร็งเต้านมหรือมะเร็งรังไข่ ซึ่งหากตรวจพบความผิดปกติของยีนที่เกี่ยวข้องกับมะเร็งเต้านม ไม่ได้หมายความว่าจะเป็นมะเร็งเต้านม เพียงแต่ทำให้มีความเสี่ยงเพิ่มมากขึ้นกว่าคนปกติ การที่เราทราบถึงความเสี่ยงนี้ จะช่วยให้เราสามารถวางแผนป้องกันโรคได้ เช่น ตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมตามกำหนดเวลาที่แพทย์แนะนำ ซึ่งต้องตรวจบ่อยครั้งกว่าและเริ่มตรวจเมื่ออายุน้อยกว่าคนทั่วไป โดยโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ใช้เทคโนโลยีในการตรวจวินิจฉัยยีนขั้นสูงที่เรียกว่า Next Generation Sequencing (NGS) ซึ่งให้ผลตรวจที่รวดเร็ว ถูกต้อง และแม่นยำ

“ทั้งนี้ ผู้หญิงทุกคนที่อายุมากกว่า 40 ปี ควรตรวจเต้านมเป็นประจำทุกปี และปรึกษาแพทย์เพื่อรับการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม เพราะการศึกษาพบว่ามะเร็งเต้านมจะมีอุบัติการณ์ที่เพิ่มมากขึ้นในผู้หญิงที่อายุมากกว่า 40 ปี ดังนั้น หากยิ่งมาตรวจได้เร็ว ก็จะรักษาได้ง่ายและมีโอกาสหายได้มากยิ่งขึ้น” รศ. นพ. วิชัย วาสนสิริ หัวหน้าศูนย์เต้านม โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ กล่าวทิ้งท้าย

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์เต้านม โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์ โทร. 1378 หรือ 02 011 3694

Previous post “วราวุธ ศิลปอาชา” รมว.พม. Kick off กิจกรรม “วันอาทิตย์เป็นวันครอบครัว” เสริมสัมพันธภาพ ทำกิจกรรมร่วมกัน เติมเต็มพลังให้ครอบครัว
Next post ห้างเซ็นทรัล ร่วมฉลองทุกบทบาทของผู้หญิงรับวันสตรีสากล 2024 จัดแคมเปญ “SHEPOSSIBLE” เพื่อให้ผู้หญิง (พร้อม) เป็นผู้ขับเคลื่อนอย่างแท้จริง
Social profiles